คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ศรีวิชัย (ไสใหญ่) ยกระดับขับเคลื่อนแลกเปลี่ยนแนวคิด (MOU) สร้างความร่วมมือด้านวิชาการ ระหว่างภาครัฐและเอกชน กับ บริษัท เอสซีจี รูฟฟิ่ง จำกัด

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุธรรม ชุมพร้อมญาติ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยบุคลากร สาขาวิทยาศาสตร์และสาขาเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช พื้นที่ไสใหญ่ โดยคณะวิจัยประกอบด้วย อาจารย์อนุชิต วิเชียรชม ดร.เอกวิทย์ เพียรอนุรักษ์ ดร.จิณณ์ดี ทัฟฟรีย์ ดร.อุไรวรรณ สุกยัง ดร.ขวัญฤทัย บุญส่ง และนายสุรศักดิ์ รักษ์ศรีทอง สร้างความร่วมมือ ร่วมกับ บริษัท เอสซีจี รูฟฟิ่ง จำกัด (โรงงานนครศรีธรรมราช) อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ในการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางในการใช้นวัตกรรมจากยางพาราในกระบวนการผลิตกระเบื้องมุงหลังคา และสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย การสร้างหลักสูตรร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยฯ และภาคอุตสาหกรรม ยกระดับความรู้และพัฒนาทักษะเฉพาะด้านให้แก่บุคลากรและนักศึกษา โดยมีคุณภูวดล ทรัพย์อลงกรณ์ ผู้จัดการโรงงานนครศรีธรรมราชและคณะ ร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อร่วมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือด้านการจัดการเรียนการสอน วิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี บูรณาการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ช่วยส่งเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการระหว่างกันภายใต้วิสัยทัศน์ มหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ บริษัท เอสซีจี รูฟฟิ่ง จำกัด ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยน วิเคราะห์แก้ไข และพัฒนาต้นแบบยางพารา เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรในกระบวนการผลิตกระเบื้องมุงหลังคา ตั้งแต่ปี 2566 – ปัจจุบัน โดยได้ดำเนินการ คือการพัฒนายางชิ้นส่วนเครื่องจักรและนำไปทดลองใช้ในกระบวนการผลิต พบว่าสามารถนำไปใช้งานได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ลดปัญหาการสิ้นเปลือง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านเวลาในกระบวนการผลิตได้เป็น อย่างดี และบริษัทฯ กำลังดำเนินการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างต่อไป และทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวคิดต่าง ๆ ในการพัฒนานวัตกรรมจากยางพาราเพื่อนำมาใช้ในกระบวนการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาที่มีคุณภาพสูง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาทางด้านวิชาการและการวิจัย อีกทั้งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาลในการบูรณาการองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสร้างสังคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความยั่งยืนและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันเชิงพาณิชย์ของภาคธุรกิจ โดยมุ่งเน้นที่การสร้างฐานรากที่แข็งแรงและความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุธรรม ชุมพร้อมญาติ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  กล่าวว่า การพัฒนายางชิ้นส่วนเครื่องจักร ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ได้บริการวิชาการ โดยให้คำแนะนำและคำปรึกษาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้งานในส่วนต่างๆ และยังมีแนวทางร่วมกันในการบูรณาการจัดทำหลักสูตรระยะสั้น การดำเนินงานสหกิจศึกษา ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางในอนาคต และบูรณาการในการพัฒนาการคุณภาพการศึกษาของ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิจัยบูรณาการเชิงพื้นที่ สร้างนวัตกรรมเกษตร บริการวิชาการและ อนุรักษ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืน ซึ่งการบริหารและพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเป็นต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความโดดเด่นและเป็นเลิศเฉพาะทางตามอัตลักษณ์ เชิงพื้นที่ สร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่และก่อให้เกิดคุณค่า ทางเศรษฐศาสตร์ สร้างนวัตกรรมการบริการวิชาการที่ก่อให้เกิดโอกาส ทางธุรกิจ สร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมบนแนวคิดวิสาหกิจ วัฒนธรรมอย่างยั่งยืน และสร้างระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง

การสร้างความร่วมมือในครั้งนี้ ระหว่างมหาวิทยาลัยฯ กับ ภาคอุตสาหกรรม ยังเป็นการยกระดับความรู้และพัฒนาทักษะเฉพาะด้านให้แก่บุคลากรและนักศึกษาในอนาคต ร่วมสร้างความเข้มแข็งและความร่วมมือด้านการจัดการเรียนการสอน วิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี บูรณาการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ช่วยส่งเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการระหว่างกันภายใต้วิสัยทัศน์ มหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม และสร้างความร่วมมือให้กับชุมชนต่อไป